วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บทความที่ 3 ปลาการ์ตูน









 การเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูน
การเลี้ยงปลาสวยงามได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย   ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงภายในครอบครัว  ตามร้านอาหาร โรงแรม สถานที่ราชการ หรือหน่วยงานต่าง ๆ  เนื่องจากตู้ปลาสวยงามจะสร้างความสวยงาม ความเพลิดเพลินให้แก่ผู้พบเห็น บางคนเลี้ยงปลาสวยงามเป็นงานอดิเรกภายในครอบครัว ทำให้มีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เป็นการสร้างความรักความสามัคคีและความผูกพันธุ์ภายในครอบครัว เด็ก ๆ ที่ได้เลี้ยงปลาสวยงามจะทำให้เขามีความรัก ความเมตตาต่อสัตว์ มีจิตใจอ่อนโยน  ทำให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติดและอบายมุข  ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญในสังคมปัจจุบัน    จากความนิยมในการเลี้ยงปลาสวยงาม ได้ก่อให้เกิดกิจกรรม และธุรกิจต่อเนื่องหลายอย่าง สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่บุคคลหลายกลุ่มธุรกิจ   เช่น ธุรกิจเพาะพันธุ์ปลา ธุรกิจจำหน่ายปลา ธุรกิจขนส่ง   ธุรกิจผลิตและขายอุปกรณ์การเลี้ยงปลา ธุรกิจยา อาหาร และสารเคมี และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งปรากฎชัดเจนแล้วว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับปลาสวยงามได้สร้างงานสร้างรายได้ เข้าประเทศได้ดีทางหนึ่ง

                      การเลี้ยงปลาสวยงามแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามลักษณะน้ำที่ใช้เลี้ยงคือ การเลี้ยงปลาสวยงามน้ำจืดและการเลี้ยงปลาสวยงามทะเล ในอดีตเมื่อนึกถึงการเลี้ยงปลาสวยงาม คนส่วนใหญ่มักนึกถึงแต่การเลี้ยงปลาสวยงามน้ำจืด ส่วนการเลี้ยงปลาสวยงามทะเลจะเป็นสิ่งที่ไกลตัวและเป็นเรื่องยาก แต่ปัจจุบันเมื่อคนเข้าใจในระบบนิเวศน์ของทะเลมากขึ้น การเลี้ยงปลาทะเลจึงเป็นสิ่งที่ไม่ยากเหมือนแต่ก่อน การเลี้ยงปลาสวยงามทะเลจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปลาทะเลจะมีความสวยงามกว่าปลาน้ำจืดนั่นเอง แต่ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือการจับปลาจากทะเล และการเก็บสิ่งประดับตู้ปลาต่าง ๆ จากทะเลเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะสร้างรายได้อย่างงามให้แก่คนในธุรกิจนี้แต่ก็มีผลเสียต่อธรรมชาติ เป็นอย่างมากเช่นกัน ด้านการเพาะพันธุ์ปลาสวยงามทะเลในปัจจุบันพบว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่า ที่ควร คือเพาะพันธุ์ได้น้อยชนิด และผลิตได้จำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด ดังนั้นหากจะพัฒนาธุรกิจด้านการเลี้ยงปลาสวยงามทะเล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งศึกษาด้านการเพาะพันธุ์ปลาสวยงามทะเล การเพาะพันธุ์ปะการัง รวมไปถึงพันธุ์ไม้น้ำทะเลด้วย

               เมื่อ นึกถึงปลาสวยงามทะเล คนส่วนใหญ่จะนึกถึงปลาการ์ตูนเป็นลำดับต้น ๆ เนื่องจากปลาการ์ตูนเป็นปลาที่มีสีสรรสวยงาม น่ารัก เชื่องง่าย เมื่อการเลี้ยงปลาทะเลสวยงามเริ่มขยายตัว ปลาการ์ตูนจากธรรมชาติจึงถูกจับมาขายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูงและเป็นปลาที่จับได้ง่าย ปัจจุบันนี้พบว่า ประชากรของปลาการ์ตูนชนิดต่าง ๆ ได้ลดจำนวนลงอย่างมาก เกือบเข้าภาวะวิกฤติ จะต้องได้รับการช่วยเหลือโดยด่วน สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ ในสังกัด กองเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปลาชนิดนี้ทั้งในด้านการอนุรักษ์และคุณค่าทาง เศรษฐกิจ จึงเริ่มศึกษาด้านการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนของไทยตั้งแต่ต้นปี 2544 โดยผสมผสานความรู้จากการศึกษาพฤติกรรมการวางไข่และการเจริญเติบโตของปลา การ์ตูนส้มขาวของอุ่นจิต (2537) กับความรู้ด้านการเพาะพันธุ์ปลากะรังของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดกระบี่ จนถึงปัจจุบัน ( กรกฎาคม 2545) สามารถเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนได้ 5 ชนิด คือ ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง ปลาการ์ตูนหลังอาน และปลาการ์ตูนอินเดียน ทั้ง 5 ชนิด สามารถผลิตปลาขนาด 1 นิ้ว ได้จำนวนมากและมีอัตรารอดสูงอย่างสม่ำเสมอ วิธีการต่าง ๆ ปรากฏอยู่ในเอกสารฉบับนี้
 


 ชีววิทยาของปลาการ์ตูน                                                                                                                               

            ปลาการ์ตูนเป็นปลาที่ถูกจัดอยู่ในครอบครัวปลาสลิดหิน (damselfishes, family pomacentridae) (สุภาพร, 2543) ปัจจุบันปลาการ์ตูนทั่วโลกที่สำรวจพบ และได้รับการจำแนกแล้วมี 28 ชนิด เป็นสกุล (genus) Amphiprion จำนวน 27 ชนิด และ สกุล Premnas อีก 1 ชนิด คือ spinecheek anemonefish, Premnas biaculeatus ซึ่งลักษณะที่ใช้แยกปลาสกุลนี้ออกมาคือ มีหนามขนาดใหญ่ (enlarged spine) บริเวณใต้ตา (Allen, 1997)อุ่นจิต(2537) กล่าวว่า ปลาการ์ตูนที่พบในน่านน้ำไทยมี 7 ชนิด แบ่งเป็นฝั่งอันดามัน 5 ชนิด ได้แก่ ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนอินเดียน ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง และปลาการ์ตูนแดงดำ ส่วนปลาการ์ตูนที่พบในอ่าวไทยมี 2 ชนิด คือ ปลาการ์ตูนหลังอาน และปลาการ์ตูนอินเดียนแดง แต่ ธรณ์(2544) กล่าว ว่า ปลาการ์ตูนลายปล้องสามารถพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน นอกจากนั้นยังพบปลาการ์ตูนส้มขาว และ ปลาการ์ตูนอินเดียนที่เกาะโลซิน จังหวัดนราธิวาส (อ่าวไทย) อีกด้วย

           ปลาการ์ตูนพบได้เฉพาะในเขตมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกบางส่วน ในธรรมชาติปลาการ์ตูนจะอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากดอกไม้ทะเล ดังนั้นเราจะพบปลาการ์ตูนได้ก็ต่อเมื่อได้พบดอกไม้ทะเลเท่านั้น แม้ว่าดอกไม้ทะเลจะมีเข็มพิษแต่กลับไม่ทำอันตรายต่อปลาการ์ตูน ทำให้ปลาการ์ตูนอาศัยอยู่อย่างปลอดภัยในดอกไม้ทะเล จากการสำรวจพบว่า ปลาการ์ตูนแต่ละชนิดจะจำเพาะเจาะจงต่อชนิดของดอกไม้ทะเลที่จะอาศัยอยู่ด้วย แต่ก็มีปลาการ์ตูนอีกหลายชนิดที่สามารถอาศัยอยู่กับดอกได้ทะเลได้หลายชนิด

       ปลาการ์ตูนแต่ละชนิดจะมีรูปแบบสีที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งปกติจะประกอบไปด้วยสีส้ม แดง ดำ เหลือง และส่วนใหญ่จะมีแถบสีขาวพาดขวางลำตัว 1-3 แถบ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของปลาการ์ตูนก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นปลาการ์ตูนชนิดเดียวกันแต่ก็จะมีส่วนที่มีสีแตกต่าง กันอยู่เสมอ ซึ่งน่าจะเป็นส่วนที่ทำให้ปลาการ์ตูนจำคู่ของมันได้ นอกจากนั้นปลาที่อาศัยต่างสถานที่กันอาจมีสีที่แตกต่างกันได้เรียกว่าความ ผันแปรของสี (colour variation)โดยปกติปลาการ์ตูนจะอยู่กันเป็นคู่ ๆ และอาจมีปลาขนาดเล็กอาศัยร่วมอยู่ด้วย แต่ในดอกไม้ทะเลดอกหนึ่ง จะมีปลาตัวผู้และตัวเมียอย่างละตัวเท่านั้น ปลาตัวเมียจะมีขนาดโตกว่าตัวผู้และตัวอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด และทำหน้าที่เป็นผู้นำ คอยปกป้องอาณาเขตที่เป็นที่อาศัยของมัน ถ้าปลาตัวเมียตายไป จะมีปลาตัวใหม่เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วและกลายเป็นตัวเมียแทน หรือหมายความว่า ปลาการ์ตูนสามารถเปลี่ยนเพศจากเพศผู้เป็นเพศเมียได้ Allen(1997) กล่าวว่า ปลาการ์ตูนจะวางไข่ครั้งละหลายร้อยฟองบริเวณฐานของดอกไม้ทะเล ซึ่งมีหนวดของดอกไม้ทะเลปกคลุม ทำให้ไข่มีความปลอดภัย พ่อปลาจะคอยดูแลไข่ หลังจากนั้น6-7 วัน ไข่จะฟักเป็นตัวและล่องลอยไปตามน้ำ ใช้ระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ จากนั้นปลาต้องหาดอกไม้ทะเลเพื่อเป็นที่อยู่ ไม่อย่างนั้นปลาจะตายเนื่องจากอดอาหาร หรือถูกกิน

ข้อมูลอ้างอิงจาก
http://www.fisheries.go.th/cf-rayong/index.php?option=com_content&view=category&id=8&Itemid=32

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น